ระบบประสาท

ระบบประสาท (Nervous System)
     ระบบประสาทเป็นศูนย์กลางที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย ในการแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้า โดยทำหน้าที่ประสานสัมพันธ์ระหว่างอวัยวะสัมผัสกับอวัยวะมอเตอร์ ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ การทำงานของต่อมและระบบต่าง ๆ ในร่างกาย อีกทั้งเป็นศูนย์ของความรู้สึกนึกคิดสติปัญญา การเรียนรู้ ความจำ ตลอดจนการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม
   ระบบประสาทประกอบด้วย
     1. สมอง (Brain)
     2. ไขสันหลัง (Spinal cord) และ
     3. เส้นประสาท (Nerve)
 
สมอง (Brain)
     เป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีรูปร่างเป็นก้อนรูปไข่ประกอบด้วยเซลล์ประสาทมากมาย จำนวนประมาณพันล้านเซลล์อยู่ในกะโหลกศรีษะ เซลล์ประสาทในสมองแผ่กระจายกระแสไฟฟ้าอยู่ตลอดเวลา จากเซลล์หนึ่งไปยังอีกเซลล์หนึ่ง สมองมีน้ำหนักเพียง 2% ของร่างกาย ต้องการออกซิเจนไปเลี้ยง 20% ของออกซิเจนที่สูดเข้าไปใช้ในร่างกาย สมองของเด็กแรกเกิดมีน้ำหนักประมาณ 300 – 400 กรัม แล้วเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงอายุ 15 ปี มนุษย์ถือได้ว่าเป็นสัตว์โลกที่มีสมองใหญ่และมีคุณภาพมากที่สุด มีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 1,300 – 1,400 กรัม มีกะโหลกศีรษะ ซึ่งมีความหนาและแข็งแกร่ง ทำหน้าที่ ป้องกันไม่ให้สมองได้รับความกระทบกระเทือน

สมองประกอบด้วยส่วนสำคัญ 8 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่
          1.
ซีรีบรัม (Cerebrum)
               
เป็นส่วนของสมองที่อยู่บนสุดของศีรษะ มีรูปร่างเป็นพูย้อย ตั้งแต่หน้าผากไปตามรูปของกะโหลกศีรษะจนถึงบริเวณท้ายทอย มีขนาดใหญ่ที่สุดประมาณ 80% ของสมองทั้งหมด บริเวณเปลือกนอกจะมีลักษณะเป็นรอยหยัก ยับย่นจีบ เป็นร่องลึก เรียกว่า คอร์เทกซ์ (Cortex) ซึ่งจัดว่าเป็นบริเวณที่สำคัญมาก ทั้งนี้เนื่องจากพบว่าคนที่มีความฉลาดมากและอัจฉริยะมักจะมีคอร์เทกซ์หรือรอยหยักส่วนนี้มากกว่าปกติ เนื่องจากจะทำให้มีพื้นที่ในการใช้งานของสมองมากตามไปด้วย
               
สมองเป็นส่วนที่มีความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากเป็นศูนย์กลางในการควบคุมพฤติกรรมการเรียนรู้ ความจำ การวิเคราะห์ การใช้เหตุผล เป็นต้น ในส่วนของสมองแบ่งออกได้อีก 4 ส่วนย่อย ซึ่งในแต่ละส่วนจะมีหน้าที่การทำงานแตกต่างกัน ดังนี้
                  -
พูสมองส่วนหน้า (frontal lobe) ในบริเวณนี้จะแบ่งออกได้อีก 2 ซีก คือ ซีกซ้าย (left themisphere) และซีกขวา (right themisphere) โดยมีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย แต่การสั่งงานจะกลับด้านกัน คือสมองซีกซ้ายจะควบคุมการทำงานของอวัยวะด้านขวาของร่างกาย ส่วนสมองซีกขวาจะควบคุมการทำงานของอวัยวะด้านซ้ายของร่างกาย นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางของอารมณ์ การพูด ความคิด การจำ การเรียนรู้ และการใช้ภาษาอีกด้วย
                  -
พูสมองส่วนกลาง (Parietal lobe) เป็นสมองส่วนที่ทำหน้าที่รับความรู้สึกต่าง ๆ ทั่วไปของร่างกาย เช่น ร้อน หนาว เจ็บปวด เป็นต้น หรือเรียกส่วนนี้อีกอย่างหนึ่งว่าเขตรับสัมผัส
                  -
พูสมองส่วนข้าง (temporal lobe) เป็นส่วนที่อยู่บริเวณด้านข้างของสมองตรงขมับ มีหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรับรู้ในด้านรส กลิ่น เสียง และความเข้าใจด้านภาษา หรืออาจเรียกส่วนนี้อีกอย่างหนึ่งว่าเขตการฟัง
                  -
พูสมองส่วนหลัง (occipital lobe) เป็นบริเวณที่อยู่ท้ายสุดของสมองตรงท้ายทอย มีหน้าที่ควบคุมการรับรู้ทางสายตาให้เกิดการมองเห็นภาพต่าง ๆ ทั้งแนวตั้งและแนวนอน หรืออาจเรียกบริเวณส่วนนี้ว่า เขตการเห็น
          2. สมองเล็ก (cerebellum)
               
เป็นสมองส่วนที่อยู่บริเวณท้ายทอยใต้สมองแท้ลงมา รูปร่างเหมือนใบไม้มีลักษณะเป็นรอยหยักย่นเช่นกันแต่น้อยกว่าสมองแท้ ชั้นนอกเป็นสีเทา (gray matter) ส่วนชั้นในเป็นสีขาว (white matter) มีหน้าที่สำคัญคือช่วยให้อวัยวะต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของสมองสามารถทำงานประสานกันได้เป็นจังหวะเดียวกันเพื่อทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง เช่น การเล่นเทนนิสจะตีลูกให้ถูกได้ อวัยวะหลายส่วนจะต้องทำงานประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่น ตา หู แขน ขา มือ ฯลฯ หน้าที่อีกประการหนึ่งคือควบคุมการทรงตัวของร่างกาย เนื่องจากสมองเล็กเป็นตัวรับกระแสประสาทจากอวัยวะรับสัมผัสที่ใช้ควบคุมการทรงตัวซึ่งอยู่บริเวณหูชั้นใน ทำให้เกิดความสมดุลในขณะที่ร่างกายกำลังอยู่ในอิริยาบถต่าง ๆ เช่น ขณะยืน เดิน หมุนตัว กระโดด เป็นต้น นอกจากนี้ยังควบคุมการเกร็งตัวของร่างกายอีกด้วย
          3.
ทาลามัส (thalamus)
               
เป็นส่วนที่อยู่ต่อจากสมองซีรีบรัมลงมา ทำหน้าที่เป็นศูนย์รับกระแสประสาทความรู้สึกที่ถูกส่งมาจากอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายเข้าสู่ไขสันหลัง ผ่านก้านสมอง (medulla oblongata) พอนส์ และสมองส่วนกลาง (midbrain) ตามลำดับ จนถึงทาลามัส จากนั้นทาลามัสจะจัดการแยกกระแสประสาทเหล่านั้นเพื่อเข้าสู่สมองเขตต่าง ๆ อีกทอดหนึ่ง และเมื่อสมองสั่งการเช่นใด ทาลามัสจะรับคำสั่งนั้นส่งเข้าสู่สมองส่วนกลาง พอนส์ ก้านสมอง และสู่ไขสันหลัง เพื่อส่งคำสั่งนั้นให้ไปมีผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เท่ากับว่าทาลามัสเป็นสถานีสุดท้ายในการจ่ายกระแสประสาทให้กับสมอง และเป็นสถานีแรกที่รับคำสั่งจากสมองเพื่อจ่ายไปสู่อวัยวะต่าง ๆ นอกจากนี้ทาลามัสยังทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของเด็กแรกเกิดในขณะที่สมองซีรีบรัมยังทำงานได้ไม่เต็มที่อีกด้วย
          4.
ไฮโปทาลามัส (hypothalamus)
               
อยู่ใต้ทาลามัสลงมาใกล้กับต่อมไร้ท่อพิทูอิทารี (pituitary gland) ไฮโปทาลามัสถือว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญ และมีหน้าที่สำคัญในการสร้างความสมดุลให้กับระบบการทำงานของร่างกาย เช่น ควบคุมการทำงานของต่อมพิทูอิทารี รักษาระดับความสมดุลของอุณหภูมิร่างกาย การหายใจ การหลับ การตื่น อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต ปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือด ควบคุมความสมดุลในการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ควบคุมแรงขับ (drive) ต่าง ๆ เช่น ความหิว ความกระหายความต้องการทางเพศ เป็นต้น ความสำคัญของไฮโปทาลามัสนี้เองบางครั้งจึงได้รับสมญาว่าผู้พิทักษ์ร่างกาย

          5.
สมองส่วนกลาง (midbrain)
              
เป็นส่วนที่มีความยาวประมาณ 1 นิ้ว ตั้งอยู่ใต้ทาลามัส โดยมีเซลล์ประสาทเป็นตัวเชื่อมต่อกัน
          6.
พอนส์ (pons)
               
เป็นส่วนที่อยู่ถัดลงมาจากสมองส่วนกลาง ด้านขวาของพอนส์จะอยู่ติดกับสมองเล็ก (cerebellum) โดยมีใยประสาทเป็นตัวเชื่อม จึงทำให้พอนส์เป็นทางผ่านของกระแสประสาทที่มาจากส่วนล่างเข้าสู่สมอง
ซีรีบรัมและสมองเล็ก เพื่อให้เกิดการประสานงานกันระหว่างสมองทั้งสองชนิด เช่น สามารถเคลื่อนไหวได้พร้อมกับการทรงตัวที่ดี เป็นต้น
          8.
ก้านสมอง (medulla oblongata)
               
เป็นส่วนที่อยู่ต่อจากพอนส์ลงมา และเป็นส่วนสุดท้ายของสมอง โดยก้านสมองจะทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างสมองกับไขสันหลัง ภายในก้านสมองประกอบด้วยเส้นประสาทเป็นมัด เพื่อส่งกระแสประสาทที่ได้รับจากสมองผ่านส่วนต่าง ๆ ลงมาตามลำดับเพื่อส่งเข้าสู่ไขสันหลังและรับกระแสประสาทที่ส่งขึ้นมาจากไขสันหลังส่งต่อไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของสมองตามลำดับเช่นกัน เท่ากับว่าก้านสมองเป็นสถานีรับส่งกระแสประสาทสุดท้ายที่เชื่อมต่อระหว่างสมองกับไขสันหลัง แต่เนื่องจากมัดของเส้นประสาทที่อยู่ภายในก้านสมองนั้นมีลักษณะไขว้กันเป็นรูปกากบาท จึงทำให้เส้นประสาทชุดที่มาจากร่างกายซีกขวาจะไปเชื่อมต่อกับเส้นประสาทที่จะเข้าสู่สมองซีกซ้าย และเส้นประสาทชุดที่มาจากร่างกายซีกซ้ายจะไปเชื่อมต่อกับเส้นประสาทที่จะเข้าสู่สมองซีกขวา จึงมีผลทำให้สมองซีกขวาควบคุมการทำงานของอวัยวะซีกซ้ายและสมองซีกซ้ายจึงควบคุมการทำงานของอวัยวะซีกขวา นอกจากนี้ก้านสมองยังทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะภายในบางชนิดอีกด้วย เช่น การเต้นของหัวใจ การขยายและหดตัวของปอด การย่อยอาหาร การยืดและหดตัวของเส้นเลือด เป็นต้น

 


เยื่อหุ้มสมอง มี 3 ชั้น คือ
1.    เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก (Dura mater) เหนียว แข็งแรงมากโดยมีหน้าที่ป้องกันการกระทบกระเทือน
2.    เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (Arachoid mater) เป็นเยื่อบางๆ
3.    เยื่อหุ้มสมองชั้นใน (Pia mater) มีเส้นเลือดแทรกมากมายทำหน้าที่ส่งอาหารไปเลี้ยงสมอง ในระหว่างชั้นกลางกับชั้นในจะมีการบรรจุของเหลวที่เรียกว่า น้ำเลี้ยงสมองไขสันหลัง โดยจะทำหน้าที่ให้สมองและไขสันหลังเปียกชื้นอยู่เสมอ
ไขสันหลัง

โครงสร้างของไขสันหลังและเส้นประสาทไขสันหลัง
1. ปีกบน (dorsal horn) เป็นบริเวณรับความรู้สึก
2. ปีกล่าง (ventral horn) เป็นบริเวณนำคำสั่ง
3. ปีกข้าง (lateral horn) เป็นบริเวณระบบประสาทอัตโนมัติ



เส้นประสาท (Nerve Fiber)

       เป็นกลุ่มของเส้นใยบาง ๆ จำนวนมากซึ่งเกิดจากเซลล์ประสาทหลายตัว รวมกันเข้าเป็นมัด เส้นประสาทอาจเป็นมัดของแอกซอน หรือมัดของเดนไดรท์ หรือทั้งสองชนิดรวมกันก็ได้
เส้นประสาทในร่างกายสามารถจำแนก ได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
   1. เส้นประสาทที่ออกจากสมอง เส้นประสาทประเภทนี้ มีทั้งสิ้น 12 คู่มีศูนย์กลางอยู่ที่สมอง บางคู่จะเป็นเส้นประสาทที่เกี่ยวกับการสัมผัส บางคู่จะเป็นเส้นประสาทที่ใช้ควบคุมการเคลื่อนไหวแยกเป็นทางซีกซ้ายและซีกขวา เพื่อรับส่งความรู้สึกและคำสั่งตั้งแต่ลำคอขึ้นไป
   2. เส้นประสาทที่ออกจากไขสันหลัง เป็นเส้นประสาทที่แยกออกมาจากบริเวณไขสันหลัง จากกึ่งกลางลำตัวแยกกระจายออกไปทางซีกซ้ายขวาของร่างกาย เรียกว่าเส้นประสาทที่ออกจากไขสันหลัง (spinal nerve) ทำหน้าที่รับส่งความรู้สึกและคำสั่งตั้งแต่บริเวณลำคอลงไปตลอดทั้งร่างกายจนถึงปลายเท้า มีหน้าที่รับความรู้สึกและควบคุมการเคลื่อนไหวมีทั้งสิ้น 31 คู่ โดยจะแยกเป็น 2 ชุด ชุดที่ 1 เป็นเส้นประสาทส่วนของการรับความรู้สึก เข้าสู่ไขสันหลังทางด้านหลัง ส่วนอีกชุดหนึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว เข้าสู่ไขสันหลังบริเวณช่วงท้อง


        เส้นประสาทแต่ละเส้นจะมีเซลส์ประสาท (Neuron) หลาย ๆ เซลส์เรียงต่อกัน เซลส์ประสาทกระจายไปเลี้ยงทั้งร่างกาย มีประมาณ 12,000 ล้านเซลส์ ในไขสันหลังและสมองมีเซลส์ประสาทมากที่สุด
เซลล์ประสาท (neuron)
เซลล์ประสาทเป็นส่วนที่เล็กที่สุดของระบบประสาท เซลส์ประสาทหนึ่งเซลล์ มีส่วนประกอบที่สำคัญ ดังนี้
   1.
ตัวเซลส์ (Cell body) เป็นจุดศูนย์กลางของเซลล์ประสาท ประกอบด้วย นิวเคลียส (nucleus) อยู่ตรงกลางเซลล์ ล้อมรอบด้วยของเหลวที่เรียกว่า ไซโตพลาส (cytoplast) มีผนังเซลล์ (cellmembrane) ทำหน้าที่เป็นผนังห่อหุ้มเซลล์
   2.
เดนไดรท์ (dendrite) เป็นเส้นใยที่ยื่นออกจากตัวเซลล์มีหน้าที่รับความรู้สึกมีกิ่งก้านสาขาเป็นแขนงสั้น ๆ มีลักษณะคล้ายรากแขนงของต้นไม้
   3.
แอกซอน (axon) เป็นเส้นใยเดี่ยว ๆ ที่ยื่นออกจากตัวเซลล์ ทำหน้าที่ส่งความรู้สึกของเซลล์นั้นไปยังเซลล์ประสาทตัวอื่น ๆ แอกซอนมีเปลือกหุ้มเรียกว่า ไมอิลินชีท (myelin sheath) ปลายสุดของแอกซอนเป็นพุ่มต่อกับอวัยวะเรียกเอนด์บลาส (end brust) ใยแอกซอนจะมีความยาวมากเป็นพิเศษ แต่ละเซลล์จะมีเพียงเส้นเดียวเท่านั้น ปลายแขนงย่อยของแอกซอน ทุกแขนงจะมีตุ่มเล็ก ๆ เรียกว่าตุ่มปลายประสาท (terminal buttons) การทำงานของแอกซอนจะเกิดขึ้น เมื่อตัวเซลล์ได้รับกระแสประสาทความรู้สึกจากเดนไดรท์จากนั้นจะส่งกระแสความรู้สึกนั้นไปยังแอกซอน แล้วแอกซอนจะส่งกระแสประสาทความรู้สึกนั้น ต่อไปยังเซลล์ประสาทตัวอื่น ๆ หรือส่งไปยังอวัยวะต่าง ๆ ที่ต้องการให้เกิดความรู้สึก หรือแสดงปฏิกิริยาตอบสนอง เซลล์ประสาทในร่างกายอาจแบ่งหน้าที่การทำงานได้ 3 ประเภท ดังนี้
     3.1.
เซลล์ประสาทรับความรู้สึก ทำหน้าที่รับกระแสประสาทจากอวัยวะรับสัมผัส เข้าสู่สมองและไขสันหลัง
     3.2.
เซลล์ประสาทมอเตอร์ ทำหน้าที่นำกระแสประสาทเข้าสู่กล้ามเนื้อทำให้เกิดการเคลื่อนไหว
     3.3.
เซลล์ประสาทเชื่อมโยง เป็นเซลล์ประสาทที่เชื่อมอยู่ระหว่างเซลล์ประสาทรับความรู้สึกและเซลล์ประสาทมอเตอร์
   4.
ซิแนปส์ (Synaps) เป็นจุดต่อระหว่างใยแอกซอนของเซลล์ประสาทตัวหนึ่งกับเดนไดรท์ของเซลล์ประสาทอีกตัวหนึ่ง โดยที่เมื่อเซลล์ประสาทตัวหนึ่งส่งกระแสประสาทความรู้สึกเข้าสู่ แอกซอนจนถึงปลายตุ่มประสาทแล้ว กระแสความรู้สึกนั้นจะถูกส่งเข้าสู่บริเวณซิแนปส์ จากนั้นซิแนปส์จะรับกระแสประสาทและส่งต่อไปยังเดนไดรท์ เพื่อเข้าสู่เซลล์ประสาทอีกตัวหนึ่งทันที ซิแนปส์จึงทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมสัญญาณกระแสประสาทระหว่างเซลล์ประสาทตัวหนึ่งกับเซลล์ประสาทอีกตัวหนึ่งนั่นเอง


ระบบประสาท แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ระบบประสาทส่วนกลาง (central nervoussystem หรือ CNS) ประกอบด้วยสมองและไขสันหลังและระบบประสาทส่วนปลาย หรือระบบประสาทรอบนอก ( peripheral nervous system หรือ PNS) ประกอบด้วยเส้นประสาทสมอง (cranial nerve) และเส้นประสาทไขสันหลัง (spinal nerve) และระบบประสาทอัตโนมัติ (autonomic nervous system หรือ ANS) 

ระบบประสาทรอบนอกหรือระบบประสาทส่วนปลาย
ระบบประสาทรอบนอกประกอบด้วยหน่วยรับความรู้สึกทั้งหมด เส้นประสาทที่ติดต่อระหว่างหน่วยรับความรู้สึกกับระบบประสาทส่วนกลาง และเส้นประสาทที่เชื่อมโยงระหว่างระบบประสาทส่วนกลางกับหน่วยปฎิบัติงาน


ระบบประสาทอัตโนมัติแบ่งได้เป็น 2 ระบบย่อยคือ
          ก. ระบบประสาทซิมพาเธติก (Sympathetic nervous System) ศูนย์กลางอยู่บริเวณไขสันหลัง (Spinal cord) ประกอบด้วยเส้นประสาทที่ออกจากบริเวณไขสันหลังตั้งแต่อกจนถึงเอว ระบบนี้จะทำงานในกรณีที่บุคคลตกอยู่ในสภาวะฉุกเฉิน ร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาตื่นตัวเพื่อเตรียมพร้อมที่จะสู้หรือหนีจากสถานการณ์เหล่านั้น ปฏิกิริยาของร่างกายที่เกิดขึ้นเมื่อระบบประสาทซิมพาเธติกทำงาน ได้แก่ ขนลุกตั้งชัน ชีพจรเต้นเร็วกว่าปกติ เหงื่อออกมาก ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น หัวใจเต้นเร็วและรัว ต่อมอะดรีนัล (adrenal gland) หรือต่อมหมวกไตจะหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีน (adrenalin) เพื่อเพิ่มพลังงานพิเศษให้กับร่างกาย เป็นต้น
ระบบพาราซิมพาเธติก


ม่านตาหรี่ลง
ต่อมน้ำตาหยุดการทำงาน
น้ำลายไหลปกติ
หัวใจเต้นปกติ
ปอดหด / ขยายปกติ
ตับและกระเพาะอาหารทำงานมากขึ้น
ลำไส้ทำงานมากขึ้น
กระเพาะปัสสาวะหดตัว
อวัยวะเพศแข็งตัว
ระบบซิมพาเธติก


ม่านตาขยาย
ต่อมน้ำตาทำงาน
น้ำลายและเหงื่อถูกผลิตออกมามาก
หัวใจเต้นเร็ว
ปอดหด / ขยายเพิ่มขึ้น
ตับและกระเพาะทำงานน้อยลง
ฮอร์โมนอะดรีนาลีนถูกหลั่งออกมา
ลำไส้ทำงานน้อยลง
กระเพาะปัสสาวะขยายตัว
ถุงอัณฑะขยายตัวทันที
         
      ข. ระบบประสาทพาราซิมพาเธติก (parasympathetic nervous system) มีศูนย์กลางอยู่ที่ก้านสมอง (medulla) และไฮโปทาลามัส (hypothalamus) โดยระบบนี้จะทำงานควบคู่กับระบบซิมพาเธติก กล่าวคือ เมื่อระบบซิมพาเธติกทำงานสิ้นสุดลง ร่างกายพ้นจากสภาวะฉุกเฉินไปแล้ว ระบบพาราซิมพาเธติกจะช่วยทำให้ร่างกายกลับคืนสู่สภาวะปกติ เช่น เส้นขนจะราบลง ชีพจรหัวใจและความดันโลหิตจะกลับคืนสภาพเดิม เป็นต้น นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้ต่อมอะดรีนัลหลั่งฮอร์โมนนอร์อะดีนาลีน (noradrenalin) เพื่อช่วยให้ร่างกายกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง
     จากที่ได้กล่าวถึงรายละเอียดการทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ระบบกล้ามเนื้อ ระบบต่อมไร้ท่อ และระบบประสาทแล้วนั้น จะเห็นว่าการทำงานของทั้งสามระบบมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์โดยตรง อย่างไรก็ตาม ระบบทั้งสามนั้นจะต้องมีการทำงานที่สัมพันธ์กัน กล่าวคือ การที่ร่างกายจะแสดงพฤติกรรมใด ๆ ได้นั้นจะต้องอาศัยระบบกล้ามเนื้อซึ่งจะช่วยให้ร่างกายเกิดการเคลื่อนไหว แต่การที่ร่างกายจะรับรู้ถึงสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่มากระตุ้นแล้วเกิดการสั่งการให้กล้ามเนื้อหดและคลายตัวเพื่อแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยระบบประสาทเป็นตัวสั่งการ นอกจากนี้ฮอร์โมนที่ถูกผลิตจากต่อมไร้ท่อทั้งหลายจะช่วยให้การทำงานของร่างกายเป็นไปตามปกติอีกด้วย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการแสดงพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งหลายจะเป็นเช่นไร ส่วนหนึ่งจึงมาจากความสมบูรณ์หรือความบกพร่องในการทำงานของระบบทั้งหลาย เพราะฉะนั้นการศึกษาเรื่องของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายโดยเฉพาะการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ รวมทั้งระบบประสาทดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ จะช่วยให้ผู้ศึกษาทางจิตวิทยาเข้าใจพฤติกรรมและการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของมนุษย์ได้ดีขึ้น 



ประสาทรับความรู้สึก
   การได้ยิน คลื่นเสียงเดินทางผ่านอากาศเข้าสู่หูชั้นนอกผ่านเข้าสู่หูชั้นกลางและชั้นใน และจะถูกเปลี่ยนเป็นแรงสั่นสะเทือนโดยกระดูกหูซึ่งวางเรียงตัวกันอยู่ แรงสะเทือนจะผ่านของเหลวภายในหูชั้นในและจะถูกแปรเป็นสัญญาณประสาทไฟฟ้าก่อนที่จะถูกส่งไปแปลความหมายในสมอง

   การรับรส ผิวของลิ้นปกคลุมด้วยตุ่มเล็ก ๆ ที่เรียกว่าพาพิลลา (Papillae) จำนวนนับล้านซึ่งยื่นออกมาเหมือนนิ้วทำให้ผิวไม่เรียบเหมือนปุยขนพาพิลลามี 4 ชนิด ใน 3 ชนิดจะมีปุ่มรับรส ซึ่งถึงแม้จะสามารถรับรสมาตรฐานได้ 4 รสเท่านั้นคือ เปรี้ยว หวาน เค็ม และขม แต่ด้วยเส้นประสาทที่ประสานกันอย่างซับซ้อนและประสาทรับกลิ่นทำให้เราสามารถแยกรสต่าง ๆ ได้อย่างละเอียด

   การมอง แสงเข้าสู่ตาทางแก้วตาและถูกปรับให้ภาคคมชัดบนจอรับภาพที่อยู่ด้านหลังของลูกตา ที่ซึ่งเซลล์ไวต่อแสงเปลี่ยนเป็นสัญญาณไฟฟ้าผ่านประสาทตาไปยังสมอง เพื่อแปลความหมายของภาพ

   การดมกลิ่น ประสาทสัมผัสกลิ่นของคนเรามีศูนย์กลางอยู่ที่แผ่นเยื่อรับกลิ่นที่เพดานของช่องจมูก ขณะอากาศผ่านเข้าสู่ช่องจมูกจะกระตุ้นเซลล์ที่แผ่นเยื่อรับกลิ่นให้ส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังสมองเพื่อแยกแยะกลิ่นต่าง ๆ

   การรับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเราเกือบทั้งหมด ได้ข้อมูลมาจากประสาทรับความรู้สึกพื้นฐาน 5 ทางด้วยกัน คือ การเห็น ได้ยินเสียง รู้รส ได้กลิ่น และสัมผัส ในจำนวนนี้การเห็นและการได้ยินจัดว่าเป็นประสาทที่สำคัญที่สุดอย่างไรก็ดีในความเป็นจริง การรับรู้ทุกชนิดจะทำงานประสานกันเพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมด ตัวอย่างที่แสดงถึงการทำงานร่วมกันนั้นเห็นได้ชัดขณะรับประทานอาหาร กลิ่นเป็นสิ่งสำคัญในการใช้แยกแยะความแตกต่างของอาหารที่มีรสและลักษณะเหมือนกัน นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราจึงรู้สึกเหมือนไม่รู้รสอาหารขณะเป็นหวัด อย่างไรก็ตามเมื่อความรู้สึกชนิดหนึ่งเสียไป ความรู้สึกชนิดอื่นอาจช่วยทดแทนกันได้ ตัวอย่างเช่น เราอาจใช้การสัมผัสและฟังเสียงหาทิศทางได้ขณะอยู่ในที่มืด

ที่มา : www.skr.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น